หน้าแรก

ไหว้พระปิดทอง พระนอนวัดป่าโมก อ่างทอง



พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดป่าโมก ซึ่งมีชื่อเดิมว่า วัดตลาด อยู่ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง วัดป่าโมก เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง


พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ มีความเก่าแก่คู่กันมากับวัด มีขนาดใหญ่โตและงดงามมาก สร้างก่อนรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาประชุมพลก่อนจะเสด็จไปรบกับ พระมหาอุปราชา ได้เสด็จมาทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์ก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2135

เดิมองค์พระพุทธไสยาสน์และพระวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยห่างจากที่ตั้งปัจจุบัน 4 เส้น 4 วา เนื่องจาก ที่ตั้งนั้นเป็นคุ้งน้ำ น้ำจึงเซาะตลิ่งพังลงไปจนใกล้ถึงองค์พระ

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระราชสงครามเป็นนายกองดำเนินการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ให้ลึกเข้ามาจากฝั่ง 4 เส้น 4 วา แล้วสร้าง พระวิหารสำหรับพระพุทธไสยาสน์ เรื่องราวการชะลอพระพุทธไสยาสน์นี้มีปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ติดไว้ที่ฝา ผนังพระอุโบสถของวัดป่าโมก มีใจความดังนี้


เมื่อปี พ.ศ. 2271 สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เสด็จพระราชดำเนินมายืนบกชะลอพระพุทธไสยาสน์ ณ อำเภอ ป่าโมก ให้พ้นอันตรายจากน้ำเซาะตลิ่งพัง โดยชะลอให้ห่างฝั่งแม่น้ำ 4 เส้น 4 วา แล้วให้สร้างพระวิหาร สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ที่วัดตลาด เนื่องจากพระวิหารเดิมฝาผนังและหลังคาชำรุดทรุดโทรม
นอกจากนั้นยังมีโคลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เรื่อง การชะลอพระพุทธไสยาสน์ เมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวร ฯ นิพนธ์ ถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นจำนวนโคลง 128 บท มีสำนวนตามบทที่ 2 ดังนี้






ตะวันลงตรงทิศทุกัง.....แทงสาย
เซราะฝั่งพงรหุรหาย...............รอดน้ำ
ขุดเขื่อนเลื่อนทลมทลาย.........ริมราก
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ.............รูปร้าวปฏิมา


ในโคลงดังกล่าวยังได้บรรยายว่า พระราชสงครามเป็นผู้ที่มีความสามารถ เคยทำงานสำคัญมาหลายครั้ง การชะลอครั้งนี้ได้จัดการขุดดิน ทำร่อง ทำราง ด้วยความยากลำบากจนเป็นผลสำเร็จ

 พระพักตร์อันงดงาม ขององค์พระนอนวัดป่าโมกข์ มองดูเหมือนกับเห็นพระองค์ท่าน กำลังแย้มพระสรวลอยู่ตลอดเวลา เป็นที่น่าประทับใจยิ่งนัก

 การบูรณะ

เมื่อปี พ.ศ. 2271 พระเจ้าท้ายสระ เสด็จพระราชดำเนินมายืนบกชะลอพระพุทธไสยาสน์ ณ อำเภอ ป่าโมก ให้พ้นอันตรายจากน้ำเซาะตลิ่งพัง โดยชะลอให้ห่างฝั่งแม่น้ำ 4 เส้น 4 วา แล้วให้สร้างพระวิหาร สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ที่วัดตลาด เนื่องจากพระวิหารเดิมฝาผนังและหลังคาชำรุดทรุดโทรม และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และในปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้ทรุดโทรมแล้ว กรมศิลปากรจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์แบบเดิม

ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้ที่วัดป่าโมกวรวิหาร
เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในบ้านป่าโมก ตามลิขิตของพระครูป่าโมกขมุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหารในสมัยนั้นได้บันทึกไว้ พอสรุปได้ว่า
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ พระโต พระในวัดป่าโมกป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโตซึ่งอยู่ที่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสีกาเหลียน สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออกมาจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่าง ๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน พระโตก็หายเป็นปกติ

จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระ ครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมก
แต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม ๓๐ คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูป่าโมกขมุนีให้จุดไฟรอบวิหารพระนอนเพื่อดูว่ามีใครมาทำโพรงหลังพระนอน แล้วแอบซ่อนมาพูดกับสีกาเหลียนหรือไม่ แต่พระสงฆ์และโยมวัดก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ทั้งสิ้น
วันต่อมา สีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัดรวม ๓๐ คน มากันเข้ามาในวิหารพระนอน สีกาเหลียนจุดธูปเทียน และถวายหมากพลูแก่พระพุทธไสยาสน์ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ หมากพลูที่สีกาเหลียนถวายหายไปในเวลา ๒ นาที !!! พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลายประสบกัยเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์ให้พูดคุยกับพระครูปาโมกขมุนี ปรากฏว่า ก็เกิดเสียงจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์อีก โดยในวันนั้น พระครูปาโมกขมุนีได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบ และเครื่องยาที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่พระครูปาโมกขมุนีถามทุกประการ

ต่อมาใน วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อเวลา ๔ ทุ่ม สีกาเหลียน พระครูป่าโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัด รวมแล้วมีทั้งหมด ๓๕ คน ได้เข้าไปตรวจดูในวิหารพระนอนอีกครั้ง ก็ไม่พบพิรุธใด ๆ ทั้งสิ้น สีกาเหลียนจึงบอกกล่าวกับพระพุทธไสยาสน์ว่า พระครูป่าโมกขมุนีอยากคุยด้วยอีก ก็เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พระครูปาโมกขมุนีได้ได้ถามพระพุทธไสยาสน์ว่า จะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระ และวิหารขึ้นใหม่ ก็บังเกิดเสียงตอบรับมาจากพระอุระของพระนอนอีก โดยพระพุทธไสยาสน์เกิดความยินดีที่พระครูป่าโมกขมุนีจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์ พระนอนและวิหาร พระครูปาโมกขมุนีจึงได้เขียนจดหมายนี้เพื่อถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ ๖) แต่พระองค์มิได้เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงยังมิได้ถวายจดหมาย





                                พระพุทธรูปบูชา เรียงรายอยู่ รอบๆอาณาบริเวณ วิหารพระนอน

                                     องค์จตุคามรามเทพ ประดิษฐานอยู่บนแท่นด้านหลังพระนอน




                     รอยพระพุทธบาทสี่รอย ประดิษฐานอยู๋ในมณฑป ด้านหน้าวิหารพระนอน

               ตู้รับบริจาคบูชาดอกไม้ ธูป เทียน ทอง และใบเซียมซี ด้านหน้าวิหารพระนอน

                                             คาถาสวดบูชาพระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อโต)

                                                      
                        
                   
                                                       ลานบริเวณด้านข้างพระวิหาร

                                  พระพุทธไสยาสน์องค์จำลอง สำหรับให้ญาติโยมได้ ปิดทอง
                                               ขอเชิญร่วมบริจาคทำบุญตามกำลังศรัทธา

      ชุดผ้าไตรจีวรมีเตรียมไว้ให้ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาได้ถวายพระสงฆ์ พร้อมชุดถวาย สังฆทาน

                                  ทางเดินลงไปให้อาหารปลาหน้าวัด ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา




 ปลาสวายและปลาเบญจพรรณ แหวกว่ายแย่งกันกินอาหารที่ญาติโยม นำมาโปรยหว่านให้ในแม่น้ำ

สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้วยังมี วิหารเขียนซึ่งเล่ากันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูงเข้าใจว่าเป็นแท่นที่เคยมี กษัตริย์เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น มณฑปพระพุทธบาท ๔ รอย หอไตร เป็นต้น

ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปวัดป่าโมกวรวิหาร
กิโลเมตรที่ ๔๐ แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๙ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๑ จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก

งานนมัสการพระพุทธไสยาสน์
วัดป่าโมกซึ่งจัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ช่วงหนึ่ง และอีกช่วงหนึ่งระหว่างขึ้น ๑๒ – ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี

วัดป่าโมกวรวิหารตั้งอยู่ที่
เลขที่ ๑/ง ถนนป่าโมกราษฎร์บำรุง ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง


ภาพโดย              
ลุงคง เที่ยวไทยตามใจชอบ


บทความทั้งหมด